คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. เป็นเจ้าภาพ PACCON 2017

การบรรยายพิเศษซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กับสมาคมเคมีอุตสาหกรรมและวิศวกรรมเคมีแห่งประเทศเกาหลี (KSIEC) ส่งผู้บรรยายพิเศษ จำนวน ๓ ท่านจากประเทศเกาหลี บรรยายร่วมกับนักวิจัยที่มีชื่อเสียงของไทยอีก ๔ ท่าน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น งานทางด้านการเรียนการสอน การปฏิบัติการในระดับเล็ก สำหรับอาจารย์ที่สอนเคมีในระดับมัธยมศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง (workshops) ภายใต้การบรรยายพิเศษของกลุ่ม DOW Chemical (Thailand) Co., Ltd. และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการเคมีและเคมีประยุกต์ระดับนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference 2017 (PACCON2017) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ (ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้ภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 11 จัดภายใต้หัวข้อ “Green Convergence on Chemical Frontiers” เพื่อให้สอดคล้องกับพระปณิธานในการเสริมสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการได้เข้ามานำเสนอผลงาน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ เทคโนโลยี ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการระดับนานาชาติ งานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำ Prof. Dr. Kurt Wüthrich จาก The Scripps Research Institute, USA และสถาบันเทคโนโลยีแห่งสวิส (ETH Zürich, Switzerland) ซึ่งเป็นนักวิจัยรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี ค.ศ. 2002 ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีนักเคมีที่มีชื่อเสียงได้รับเชิญจากต่างประเทศและในประเทศมากกว่า 80 ท่าน ร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายใน 12 สาขาที่ครอบคลุมศาสตร์ทางเคมีด้านต่างๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักเคมีทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการจัดสาขาพิเศษ (special session) ถึง 7 สาขา อาทิเช่น การบรรยายผลการดำเนินงานในความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nations University Institute for the Advanced Study of Sustainability) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเคมีสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ส่งผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการติดตามตรวจสอบและการจัดการสารปนเปื้อนอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนานในเอเชีย (Persistent Organic Pollutants Monitoring and Management in Asia) จากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ และผู้บรรยายพิเศษ จำนวน 4 ท่าน มาบรรยายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายใต้โครงการดังกล่าว

การบรรยายพิเศษทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเครื่องมือทางเคมีจากบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนงานประชุมครั้งนี้ ในการประชุมวิชาการ PACCON2017 นี้ มีผู้ร่วมประชุมมากกว่า 1,000 คน ที่ประกอบด้วยนักวิจัย นักวิชาการและนักศึกษา ซึ่งนอกจากการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรรับเชิญกว่า 80 ท่านแล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยจากกว่า 25 ประเทศ มากกว่า 800 ผลงาน โดยเป็นการเสนอผลงานแบบบรรยาย 173 เรื่อง และผลงานแบบโปสเตอร์ 619 เรื่อง โดยผลงานวิจัยที่มีการนำเสนอผลงานมากที่สุดในปีนี้คือ สาขาวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีการสนับสนุนจากเอกชน ในทุนนักวิจัยจากประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขง จำนวน 20 ทุน เพื่อเข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ด้วย จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถึงวิทยาการที่ก้าวหน้าในหมู่ผู้เข้าร่วมประชุม อีกทั้งยังจะมีการเผยแพร่ผลงานสู่สังคมโลก โดยการตีพิมพ์ในรายงานการประชุมและวารสารวิชาการถึง 4 วารสาร จึงถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ศักยภาพของภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มีความพร้อมอย่างยิ่งสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมด้านเคมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ



25 มกราคม 2560

เอกสาร