มจพ. ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต สุขภารังษี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าร่วมในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการเปิดบ้านฝนหลวง ปี 2567 และพิธีลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่าง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี คุณราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีด้านวิจัย นวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรงค์ ฉิมพาลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองศาสตราจารย์ ดร.ตุลวิทย์ สถาปนจารุ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ภายใต้กรอบความเข้าใจทั้ง 4 มหาวิทยาลัย แบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 การลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจัดทำโครงการบัญชีคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร เพื่อศึกษาและจัดทำบัญชีคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร และขอรับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และจัดทำแผนนโยบายการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นเป้าหมายเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป ด้านที่ 2 การบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ร่วมกับมหาวิทยาลัย 3 แห่ง เพื่อศึกษาและวิจัย สำหรับเตรียมรับมือกับปัญหาฝุ่นพิษให้รวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนการดำเนินงานร่วมกับแต่ละมหาวิทยาลัย คือ - การศึกษาพัฒนาแบบจำลองชั้นบรรยากาศในแนวดิ่งที่สัมพันธ์กับ P.M. 2.5 ความเข้มข้นสูงจากการหยั่งอากาศด้วยบอลลูน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) - การพัฒนาแบบจำลองการเกิดเมฆที่เป็นผลมาจากฝุ่น P.M. 2.5 .ในช่วงฝุ่น P.M. 2.5 เกินค่ามาตรฐาน : กรณีศึกษาเติมสารดูดความชื้น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร - การศึกษาคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของเมฆฝน (rain cloud) และเมฆที่ไม่ใช่เมฆฝน (non-rain cloud) จากข้อมูลดาวเทียม Himawari เพื่อการพัฒนา Application แสดงค่า P.M. 2.5 และคุณสมบัติของเมฆบนมือถือ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมุ่งหวังให้การแก้ไขสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นพิษ และภัยแล้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนดและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้มีนิทรรศการเปิดบ้านฝนหลวง 2567 และมีกิจกรรมต่างๆ วันที่ 24 มกราคม 2567 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วันที่ 24 มกราคม 2567

26 มกราคม 2567

ห้องภาพ